ทีเส็บ จับมือภาคี 4 องค์กร ผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งทอผ้าพื้นถิ่นอีสานขอนแก่นสู่เวทีตลาดโลก

163
0
Reading Time: 2 minutesReading Time: 2 minutes

ทีเส็บ จับมือภาคี 4 องค์กร ผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งทอผ้าพื้นถิ่นอีสานขอนแก่นสู่เวทีตลาดโลก

21 พฤษภาคม 2567 : ทีเส็บ จับมือภาคี 4 องค์กร พร้อมใจกันยกระดับผลิตภัณฑ์และความสามารถในการบริหารของชุมชน เพื่อผลักดันขอนแก่นเป็นประตูผ้าไหมไทยสู่ตลาดโลก พร้อมนำผ้าไหมไทยสู่เวทีโลกที่ฝรั่งเศสและออสเตรเลีย

ภาคี 5 ฝ่ายที่มาร่วมมือกันตามแผนดังกล่าว ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) สมาคมไหมไทยและสิ่งทอขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และทีเส็บ ซึ่งจะใช้ความชำนาญที่แตกต่างกันมาส่งเสริมผู้ประกอบการไหมไทยได้อย่างครบกระบวนการ

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของทั้ง 5 หน่วยงานว่า เป็นเจตนาร่วมกันของทุกองค์กรภาคีที่จะร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมไหมไทยไปสู่ตลาดระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

ทั้งยังเป็นการสานต่อการทรงงานมากว่า 54 ปีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อพัฒนาผ้าไหมเพื่อสร้างรายได้แก่ประชาชน

“เราเห็นความสำคัญของการทำให้ผ้าไหมก้าวต่อไปเพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับความเป็นอยู่แก่ประชาชน และไม่ลืมว่างานต่าง ๆ ทั้งด้านพัฒนาคุณภาพ ส่งเสริมตลาด ส่งเสริมมาตรฐาน และอื่น ๆ เป็นงานที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงทุ่มเทมาแล้วไม่น้อยกว่า 54 ปี”

ผลที่เกิดขึ้นคือผลิตภัณฑ์ไหมซึ่งเคยเป็นสิ่งทอที่ทำใช้ในครัวเรือน กลายเป็นอาชีพให้แก่เกษตรกรนับแสนคนใน 86,000 ครัวเรือน ทำให้อุตสาหกรรมไหมไทยมีขนาดใหญ่ถึง 6,600 ล้านบาท และมีการต่อยอดไปสู่สินค้าต่าง ๆ ทั้งในการตกแต่งภายใน เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องสำอางจากโปรตีนไหม เป็นต้น

ในการร่วมมือกันครั้งนี้ ทีเส็บจะใช้ความชำนาญด้านการจัดประชุมและแสดงสินค้ามาสนับสนุนในสองด้านหลัก ได้แก่ การส่งเสริมให้ขอนแก่นเป็นเมืองสำหรับการค้าผ้าไหมจากทั่วประเทศสำหรับผู้ซื้อจากต่างประเทศ โดยการพัฒนาให้เกิดงานเทศกาลไหมนานาชาติอย่างเต็มรูปแบบ

เป้าหมายดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของทีเส็บในการกระจายโอกาสการเข้าสู่อุตสาหกรรมไมซ์อย่างทั่วถึง ซึ่งขอนแก่นเป็นหนึ่งในไมซ์ซิตี้อันดับต้น ๆ ที่ทีเส็บเข้ามาร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในอีกด้านหนึ่งคือการร่วมกับสมาคมไหมไทยและสิ่งทอขอนแก่นนำผู้ประกอบการและผ้าไหมไทยไปร่วมในงานแสดงสินค้าระดับโลกที่เกี่ยวข้อง เช่น งาน Silk in Lyon ประเทศฝรั่งเศส และงานสิ่งทอ World Cotton Day ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งจะดำเนินการภายในปีนี้ทั้งสองงาน

ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) โดยนายสักก์สีห์ พลสันติกุล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น (CEA ขอนแก่น) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาห่วงโซ่ของระบบนิเวศสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วย แรงงานสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ และนักสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ให้เป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการนำเอากระบวนการคิดเชิงออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ที่ผสานต้นทุนทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น (Creativity & Culture) มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ โดยในภาคอีสาน CEA เล็งเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft & Design) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่โดดเด่นของภาคอีสาน โดยเฉพาะ “ผ้าไหม ” ซึ่งเรามีช่างฝีมือท้องถิ่นที่มีศักยภาพ มีนักสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added) และสร้างสรรค์คุณค่า (Value Creation) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักสร้างสรรค์และช่างฝีมือ จึงเป็นโอกาสให้หน่วยงานของเราได้มีส่วนช่วยยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เมืองขอนแก่น สู่ระดับภูมิภาคและระดับประเทศต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนงานด้านวิชาการ การวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม รวมถึงการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ด้วยองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนากำลังแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเราพร้อมร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไหมและสิ่งทอกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี “ศูนย์ส่งเสริมผ้าพื้นถิ่นอีสานไทย-ฝรั่งเศส (Franco-Thai Isan Textile Promotion Centre (FTITP))” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ทั้งความรู้ นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในหลากหลายมิติ โดยบูรณาการศาสตร์กับการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ เพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพ รวมถึงพัฒนาศักยภาพเชิงพาณิชย์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอผ้าพื้นถิ่นอีสานให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมไมซ์และอีเว้นท์เชิงธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และศูนย์วิจัยชุมชนเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่ (สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) พร้อมส่งเสริมด้านงานวิจัย สร้างฐานข้อมูลอุตสาหกรรมผ้าไหม และหัตถกรรม บ่มเพาะองค์ความรู้ ให้แก่ชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการและนักออกแบบไทย (Designer) ในการบริการข้อมูลวิชาการ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน สนับสนุนการพัฒนานักศึกษาและร่วมฝึกประสบการณ์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ และการพัฒนาสินค้าและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และสมาคมระดับประเทศและนานาชาติ ยกระดับผ่านอุตสาหกรรมไมซ์สู่สายตาชาวไทย และเวทีโลก มหาวิทยาลัยขอนแก่นพร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมไหมไทยสู่ไมซ์โลก

นายภพพล เกษมสันต์ ณ อยุธยา นายกสมาคมไหมไทยและสิ่งทอขอนแก่น กล่าวว่า สมาคมฯ ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไหมและสิ่งทอ ทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายในอุตสาหกรรมฯ ภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างงานและแสวงหาโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไหมไทยและสิ่งทอจังหวัดขอนแก่น ขยายโอกาสการเชื่อมโยงผ้าไหมอีสานให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล สนับสนุนทางการค้าและความร่วมมือเชิงพาณิชย์กับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ระดับนานาชาติต่อไป

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *