เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค-พอช.จัดงานสัมมนา ‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’

248
0
Reading Time: 3 minutesReading Time: 3 minutes

เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค-พอช.จัดงานสัมมนา ‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’

พอช./ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาคร่วมกับ พอช. และภาคีเครือข่าย จัดงานสัมมนา ‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เป้าหมายเพื่อระดมความเห็น นำไปสู่การขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศให้มีความเข้มแข็ง ยกระดับไปสู่การจัดสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ เป็นองค์กรช่วยเหลือทางสังคม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เผย 18 ปีจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศแล้ว 5,921 กองทุน สมาชิก 6.7 ล้านคน เงินกองทุนสะสมรวม 20,711 ล้านบาท ช่วยเหลือสมาชิกแล้วกว่า 3,200 ล้านบาท
‘18 ปีกองทุนสวัสดิการ’ จัดตั้งแล้ว 5,921 กองทุน
กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นกองทุนระดับตำบลหรือเทศบาล ที่ประชาชนทั่วไป เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกองทุนเอาไว้ช่วยเหลือดูแลกันในยามเดือดร้อนจำเป็น เจ็บไข้ได้ป่วย เสียชีวิต ประสบภัยพิบัติ ทุนการศึกษาเด็ก การประกอบอาชีพ ฯลฯ โดยมีหลักการที่สำคัญคือ สมาชิกกองทุนจะร่วมกันสมทบเงินวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท แล้วนำเงินนั้นมาช่วยเหลือดูแลกัน โดยรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมสมทบเงินเพื่อให้กองทุนเติบโต ดูแลสมาชิกและผู้เดือดร้อนได้ทั่วถึง
กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนการจัดตั้ง เริ่มแรกมีกองทุนจัดตั้งนำร่องทั่วประเทศจำนวน 99 กองทุน
ในปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการทั่วประเทศ ในอัตรา 1 ต่อ 1 รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล สามารถสมทบงบประมาณสนับสนุนกองทุนได้ เพื่อให้กองทุนเกิดการเติบโต มีความยั่งยืน ช่วยเหลือสมาชิก ผู้เดือดร้อน ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ ได้ทั่วถึง
ปัจจุบันมีกองทุนที่จัดตั้งแล้วทั่วประเทศ จำนวน 5,921 กองทุน สมาชิกรวม 6,762,273 คน เงินกองทุนสะสมรวมกัน 20,711 ล้านบาทเศษ ช่วยเหลือสวัสดิการแล้ว 4,871,275 ราย วงเงินรวม 3,289 ล้านบาทเศษ

‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’
​ระหว่างวันที่ 13-14 กันยายนนี้ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค ร่วมกับ พอช. และภาคีเครือข่าย จัดงาน ‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยมีผู้แทนเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช.เข้าร่วมงานประมาณ 160 คน
​นายแก้ว สังข์ชู ประธานอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน กล่าวเปิดงานสัมมนา มีใจความว่า การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.สรุปและทบทวนบทเรียนการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนในปีที่ผ่านมา 2.ทิศทางการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนในปี 2567 โดยผลจากการสัมมนาทั้ง 2 วันจะนำไปสู่การออกแบบ สร้างทิศทางใหม่ในการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชน รวมทั้งความร่วมมือกับภาคี หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเกิดความยั่งยืนต่อไป
“ที่สำคัญคือ เราต้อง Rebrand กองทุนสวัสดิการชุมชนของเราเอง Rebrand รูปแบบและวิธีการทำงาน เพื่อพิสูจน์ว่า แม้บางกองทุนจะไม่ได้รับงบประมาณสมทบจากรัฐมานาน 6-7 ปี และไม่ได้พึ่งรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะความร่วมมือของท้องถิ่น ของชาวชุมชน เพราะเงิน 1 บาทถ้าอยู่แบบปัจเจก จะไม่มีค่าอะไรเลย แต่หากคนในตำบล 3 พันคน เอาเงินคนละ 1 บาทมารวมกัน จะได้เงิน 3 พันบาท สามารถเอาไปสร้างประโยชน์ได้” นายแก้วกล่าวเปิดสัมมนา
นายปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ เลขานุการเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค กล่าวสรุปบทเรียนและผลการดำเนินงานสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ 5 ภาค มีใจความว่า จากการรวบรวมและประมวลเป้าหมายการดำเนินงานของเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้ง 5 ภาค พบว่า 1.ต้องการให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นองค์กรหลักที่รองรับโครงสร้างทางสังคม 2.พัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้รองรับการแก้ไขปัญหาความยากจนของสมาชิกและผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน 3.พัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นมืออาชีพ เกิดความยั่งยืนทั้งภายในและภายนอก และ 4.สร้างเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทุกระดับ
ส่วนเป้าหมายหลักสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน มี 3 เป้าหมาย คือ 1.สวัสดิการชุมชนสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 2.สวัสดิการชุมชนเป็นสวัสดิการทางเลือก และ 3.กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นแกนหลักในการจัดสวัสดิการชุมชนให้คนในพื้นที่ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย เช่น 1.การพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล 2.การพัฒนาเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนตั้งแต่ระดับจังหวัด ภาค และประเทศ 3.การพัฒนาความรู้และนวัตกรรม ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาสวัสดิการชุมชนในช่วง 1-3 ปี (พ.ศ. 2566-2568) เช่น การผลักดันให้รัฐสมทบงบประมาณเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนมากกว่ากองทุนละ 3 ครั้ง 2.การลดหย่อนภาษีให้กับภาคธุรกิจเอกชนที่สมทบงบประมาณเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน 3.ความร่วมมือกับกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุน สปสช.ตำบล ฯลฯ

สวัสดิการที่มากกว่า “เกิด แก่ เจ็บ ตาย”
​การสัมมนาในวันนี้มีการนำเสนอพื้นที่รูปธรรม “สวัสดิการชุมชน…สร้างคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนของชุมชน” โดยนำเสนอพื้นที่กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ช่วยเหลือดูแลสมาชิกและผู้เดือดร้อนมากกว่าสวัสดิการพื้นฐาน “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” เช่น
​นายจำเริญ แก้วประชุม ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลชัยบุรี อ.เมือง จ.ลพบุรี บอกว่า กองทุนช่วยเหลือดูแลสมาชิกและคนด้อยโอกาสในตำบล ผู้มีฐานะยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 โดยมอบไก่ไข่ให้ผู้ด้อยโอกาสนำไปเลี้ยงรวม 13 หมู่บ้านๆ ละ 2 ครอบครัวๆ ละ 16 ตัว เพื่อให้มีอาหารกิน ที่เหลือสามารถนำไปแจกเพื่อนบ้านหรือขายเป็นรายได้
​นอกจากนี้ในปี 2566 นี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จัดทำโครงการ “ไก่ไข่อารมณ์ดี” โดย ม.ทักษิณสนับสนุนงบประมาณสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ พันธุ์ไก่ไข่จำนวน 400 ตัว อาหาร และยา เลี้ยงแบบปล่อยในโรงเรือน ไก่จะมีพื้นที่เดิน หากิน ไม่ถูกขังแบบแออัด เป็น ‘ไก่อารมณ์ดี’ โดยให้คนในตำบลที่ไม่มีงานทำ หรือคนยากจนช่วยกันดูแล โดยมีค่าตอบแทน และจะนำรายได้จากการขายไข่ไก่มาสนับสนุนการจัดสวัสดิการช่วยเหลือคนที่ยากลำบากในตำบล เริ่มเลี้ยงเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
​นางสาวปัทมา ซัง ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลเสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี บอกว่า พื้นที่ตำบลเสวียดมีโรงงานผลิตนำมันปาล์มหลายแห่งตั้งอยู่ เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศ ฝุ่นควัน กองทุนสวัสดิการจึงคิดเรื่องเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยลดมลพิษ โดยใช้พื้นที่ป่าสาธารณะที่มี ‘ต้นยางเหียง’ ขึ้นอยู่ ประมาณ 1,000 ไร่ สภาพเดิมเป็นป่าเสื่อมโทรม โดนบุกรุก
โดยกองทุนสวัสดิการฯ ช่วยกันฟื้นฟูป่า ปลูกต้นยางเหียงและไม้อื่นๆ เพิ่มเติมกว่า 10,000 ต้น เพื่อให้เป็นปอดของตำบล สร้างอากาศบริสุทธิ์ เป็นแหล่งเกิดเห็ดเผาะ ให้ชาวบ้านเก็บขายและกิน ราคากิโลกรัมละ 700 บาท ที่ผ่านมาเก็บได้มากกว่า 100 กิโลกรัม
นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการยังส่งเสริมการคัดแยกขยะในครัวเรือน ให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลมาขายให้กองทุน แล้วกองทุนจะขายต่อให้รถรับซื้อ นำส่วนต่างรายได้เข้ากองทุน ช่วยเหลือสมาชิก และสมาชิกที่ไม่มีรายได้ สามารถนำขยะมาแทนเงินสมทบรายปีๆ ละ 365 บาท
ส่วนขยะเปียก ทะลายปาล์มน้ำมัน นำมาหมักทำปุ๋ย ขายกิโลฯ ละ 3 บาท ปีหนึ่งทำปุ๋ย 2 ครั้งๆ ละประมาณ 200 ตัน ปุ๋ยจำนวนหนึ่งให้สมาชิกนำไปใส่ในแปลงผักปลอดสารพิษ จำหน่ายเป็นรายได้ของสมาชิกกลุ่มปลูกผัก ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมี กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ที่ช่วยเหลือสมาชิกในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เช่น นำเงินกองทุนต่างๆ ที่มีอยู่มาจัดทำครัวกลาง ทำอาหารแจกจ่ายคนตกงาน คนที่ได้รับผลกระทบ ทำศูนย์พักคอยในชุมชน ปลูกผัก เลี้ยงปลา เพื่อนำมาเป็นอาหารแจกจ่าย และขาย นำรายได้เข้ากองทุน ส่งเสริมผู้สูงอายุออกกำลังการ เต้นแอโรบิค บาสสโลป สร้างสุขภาพป้องกันโรค ฯลฯ
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเกิดเหตุโรงงานพลุระเบิดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ บ้านเรือนและทรัพย์สินพังเสียหายจำนวนมาก โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้เข้าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนับแต่เกิดเหตุการณ์ มีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น รวมทั้ง พอช. เพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน ความช่วยเหลือระยะกลาง และระยะยาว เช่น ซ่อม สร้างบ้านใหม่ เพื่อให้คนมูโนะกลับมามีชีวิตที่ปกติสุขโดยเร็ว
จัดประกวดกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นปี 2566 ตามแนวคิด ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
​การจัดสัมมนาวันนี้ มีการแถลงข่าว “รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน : ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ‘คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ปี 2566” โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมแถลงข่าว
​รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดประกวดครั้งแรกในปี 2559 และจัดต่อเนื่องทุกปี เว้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเฟ้นหากองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่างๆ จากทั่วประเทศ เพื่อยกย่อง เชิดชู เป็นกำลังใจให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชน โดยที่ผ่านมาจัดประกวดไปแล้ว 6 ครั้ง มีกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลไปแล้วประมาณ 48 กองทุน
ในปีนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 7 โดยจะเปิดรับสมัครกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนนี้ จนถึงเดือนตุลาคม จากนั้นจะเป็นกระบวนการคัดเลือกในระดับภาค และระดับประเทศ และจะประกาศผลรางวัลกองทุนดีเด่นประเภทต่างๆ ในช่วงต้นปี 2567 และจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 9 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ
การจัดประกวดปีนี้ มีรางวัลทั้งหมด 10 ด้าน คือ รางวัลประเภทที่ 1 ด้านการพัฒนาครอบครัว แม่และเด็ก รางวัลประเภทที่ 2 : ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร รางวัลประเภทที่ 3 : ด้านการพัฒนาสังคมสูงวัย รางวัลประเภทที่ 4. ด้านการพัฒนาการศึกษา การเรียนรู้ ทักษะการดำรงชีวิต รางวัลประเภทที่ 5 : ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
รางวัลประเภทที่ 6 : ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน รางวัลประเภทที่ 7 : ด้านการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยรางวัลประเภทที่ 8 : ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน รางวัลประเภทที่ 9 : ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม และรางวัลประเภทที่ 10 : ด้านการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (เกิดปี 2459 เสียชีวิต 2542) เป็นปูชนียบุคคลของสังคมไทย เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท ฯลฯ ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2508 และองค์การยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2558

ย้อนกลับไปในปี 2516 ดร.ป๋วยเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ เรื่อง “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ขนาด 2 หน้า เพื่อนำเสนอบทความชิ้นนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากนั้นมีการแปลและเผยแพร่บทความนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง เรียกบทความนี้สั้นๆ ว่า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เนื้อหากล่าวถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับบริการสวัสดิการจากรัฐตั้งแต่เกิดจนตาย มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า…

“ เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมอยากให้แม่ได้กินอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับการเอาใจใส่และบริการอันดี

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *