อธิบดี “ประพิศ” ลุยตรวจระบบชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66
วันนี้ (23 มิ.ย. 66) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล และ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 และผู้เกี่ยวข้อง รายงานผลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในช่วงฤดูฝนนี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้มีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากในปี 2566 นี้ได้อย่างทันต่อสถานการณ์ โดยได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมดำเนินการตาม 6 แนวทางปฏิบัติของกรมชลประทาน คือ กักเก็บน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพ, คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง, หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางน้ำ, ระบบชลประทานเร่งระบาย, Standby เครื่องมือ เครื่องจักร และที่สำคัญคือการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์แนวทางการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า
นอกจากนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ยังได้ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์และตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทาน บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำจากทางตอนบนและปริมาณฝนในพื้นที่ ก่อนที่จะระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
“การบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนในปีนี้ มั่นใจเพราะกรมชลประทานได้เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือไว้คอยช่วยเหลือประชาชน อาทิ รถแบคโฮ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เป็นต้น โดยทางโครงการชลประทานในพื้นที่ได้มีการวางแผนติดตั้งเครื่องจักรกลต่าง ๆ ไว้ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง และได้เน้นย้ำให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัด เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง ได้กำชับให้มีการวางมาตรการเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาการกีดขวางทางระบายน้ำ โดยให้บริเวณที่มีการก่อสร้างสามารถระบายน้ำได้ตามศักยภาพของคลองอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ เพื่อให้สอดรับกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ พิจารณาการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไปด้วย” อธิบดีฯ กล่าว